แผลน้ำร้อนลวกต้องปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง และการใช้ยารักษาแผลน้ำร้อนลวก
แผลน้ำร้อนลวก เป็นบาดแผลที่พบได้ทั่วไป มักเกิดจากความประมาทหรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน ไม่ว่าจะกับใครหรือสถานที่ใด ไม่ว่าจะเป็นที่ออฟฟิศ ที่บ้าน หรือที่ไหน ๆ ก็สามารถเกิดเหตุน้ำร้อนลวกได้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานใกล้ของร้อน ๆ เป็นประจำ และเมื่อเกิดแผลพุพองหลายคนมักเคยได้รับคำแนะนำจากคนรอบข้างว่า ให้ใช้ยาสีฟันหรือน้ำแข็งประคบ ซึ่งการใช้ยาสีฟันหรือน้ำแข็งนั้นสามารถออกฤทธิ์แค่การทำความเย็นเท่านั้น แต่ไม่สามารถรักษาแผลให้หายเร็วขึ้นได้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอีกยังมีความเชื่อผิด ๆ อีกมากมาย เช่น การเจาะตุ่มแผลพุพองจะช่วยให้แผลน้ำร้อนลวกหายไวขึ้น ซึ่งในวันนี้เราจะพามาดูข้อเท็จจริงกันว่าหากโดนน้ำร้อนลวก จะต้องมีวิธีปฐมพยาบาลอย่างไรบ้าง รวมถึงการใช้ยารักษาแผลน้ำร้อนลวก และวิธีการดูแลแผลน้ำร้อนลวกต่อไปจากนี้ด้วย
1. แผลน้ำร้อนลวก และแผลจากการโดนความร้อน
แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก เป็นแผลที่เกิดจากการโดนของร้อนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโดนโลหะ หรือวัสดุนำความร้อนอื่น ๆ เช่น กระทะ หม้อ หรือเหล็กร้อน การถูกของเหลวอุณหภูมิสูงหกใส่ หรือแม้แต่การถูกเปลวไฟสัมผัสที่ผิวหนังโดยตรง ซึ่งระดับความรุนแรงของแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ตามความลึกของแผล ดังนี้
- บาดแผลระดับ 1 (First Degree Burn) มีความลึกของบาดแผลไม่มาก และเกิดขึ้นที่ชั้นผิวหนังกำพร้า ลักษณะของแผลจะทำให้ผิวหนังมีรอยแดง และมีอาการแสบร้อนยาวนานได้ถึง 72 ชั่วโมง แต่ไม่จะบวมหรือพองน้ำ โดยอาการแสบร้อนจะทุเลาลงเองได้
- บาดแผลระดับ 2 (Second Degree Burn) ผิวหนังจะถูกทำร้ายลึกถึงชั้นหนังแท้ จะมีอาการแสบร้อนร่วมกับผิวหนังบวม และพองเป็นตุ่มน้ำ หรือถุงน้ำใส ๆ ซึ่งบางแผลประเภทนี้อาจทำให้มีรอยแผลเป็นได้ และจำเป็นต้องได้รับการดูแล ทำแผลอย่างถูกวิธี ส่วนมากแผลจะหายภายในเวลา 7 - 10 วัน
- บาดแผลระดับ 3 (Third Degree Burn) เป็นบาดแผลที่ชั้นผิวหนังทั้งหมดถูกความร้อนทำลายรวมถึงเซลล์ประสาทด้วย ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บบริเวณแผล แต่มีความเสียหายรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ โดยเฉพาะแผลขนาดใหญ่ เพราะมีโอกาสติดเชื้อสูง แต่หากไม่มีการติดเชื้อร่างกายก็จะสามารถสร้างผิวหนังได้ใหม่ใน 14 - 28 วัน ซึ่งแผลไหม้หรือน้ำร้อนลวกระดับนี้จะทิ้งรอยแผลเป็นไว้แน่นอน
2. การปฐมพยาบาลแผลโดยน้ำร้อนลวก และแผลจากการโดนของร้อน
- ทันทีที่โดนน้ำร้อน หรือของร้อน ให้ใช้น้ำสะอาดในอุณหภูมิปกติล้างแผลโดยการปล่อยให้น้ำไหลผ่านบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวกเป็นเวลา 5 - 20 นาที จากนั้นซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาดอย่างเบามือ
- สังเกตแผลว่ามีรอยถลอก ผิวหนังลอก มีตุ่มพอง หรือผิวหนังเปลี่ยนสีหรือไม่ หากพบความผิดปกติเหล่านั้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณของบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่มีความลึกระดับ 2 หรือ 3
- ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกและป้องกันการถลอกของแผล
- ห้ามใช้ยาสีฟัน หรือครีมต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทาลงไปบนแผล โดยเฉพาะแผลที่มีความลึกระดับ 2 - 3 ควรไปพบแพทย์ก่อนเสมอ
หากมีแผลโดนของร้อนใหญ่เป็นวงกว้าง ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ และรับคำแนะนำวิธีการดูแลแผลอย่างถูกวิธี หลังจากนั้นอาจทาด้วยยาฆ่าเชื้อและสมานผิว หรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความแสบร้อนและอักเสบได้
3. แผลน้ำร้อนลวกแบบใดที่ควรไปพบแพทย์ทันที
แผลน้ำร้อนลวกระดับ 1 เล็ก ๆ ที่มีเพียงแค่รอยแดง แต่ไม่ทำให้เกิดแผล ไม่ทำร้ายชั้นผิวหนังแท้ สามารถทำการปฐมพยาบาลเองที่บ้านได้ แต่หากเป็นแผลที่มีขนาดกว้างและมีอาการแสบร้อนไม่หายใน 2-3 วันก็ควรที่จะไปพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผลจากการโดนน้ำร้อนลวก หรือโดนความร้อนทำร้ายลึกถึงชั้นหนังแท้ลงไปจนเห็นเนื้อสีแดง หรือเห็นถึงกระดูก อย่างบาดแผลระดับที่ 2 และ 3 นั้นควรต้องไปพบแพทย์ทันที เพราะไม่สามารถรักษาให้หายเองที่บ้านได้ และมีความเสี่ยงที่แผลจะติดเชื้อสูง จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นพิเศษ
4. แนวทางการรักษาแผลน้ำร้อนลวก
การรักษาแผลน้ำร้อนลวกของแพทย์จะเริ่มต้นที่การล้างแผลให้สะอาดอีกครั้ง หากเป็นแผลลึกระดับ 2 - 3 อาจมีการตัดเนื้อที่ตายออก และแพทย์จะใช้ขี้ผึ้ง หรือครีมสำหรับทาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บริเวณแผลก่อนปิดด้วยผ้าก๊อซ หรืออาจใช้วัสดุปิดแผลอื่น ๆ เพื่อช่วยปกป้องแผลจากสิ่งสกปรก โดยแผลน้ำร้อนลวกระดับ 2 - 3 จะต้องทำการล้างแผลและทำแผลใหม่เป็นประจำทุก 1 - 4 วันขึ้นอยู่กับความรุนแรงและขนาดของแผล อาจมีการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการแสบร้อนร่วมด้วย
5. การดูแลตัวเองหลังพบแพทย์เพื่อรักษาแผลน้ำร้อนลวก
นอกจากการไปพบแพทย์แล้ว การดูแลแผลน้ำร้อนลวกด้วยตัวเองหลังจากพบแพทย์ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เพื่อให้ผิวหนังบริเวณที่โดนน้ำร้อนลวกฟื้นตัวได้ไวที่สุด และทิ้งรอยแผลเป็นไว้น้อยที่สุด โดยมีแนวทางดังนี้
- ทำความสะอาดแผลเป็นประจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของแผลที่จะทำให้แผลหายช้า
- ทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่มาฟื้นฟูบาดแผลได้ไวยิ่งขึ้น
- ทาและรับประทานยาที่แพทย์สั่งเป็นประจำ และปฏิบัติตามตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังด้วยยาทาแผลน้ำร้อนลวก ที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคและสมานแผลได้ เพื่อป้องกันการเกิดรอยแผลเป็นที่เห็นได้ชัด
6. ข้อควรระวังหลังรับการรักษาแผลน้ำร้อนลวก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ทุกชนิด เพราะอาจมีขน ฝุ่นละออง หรือเชื้อโรคต่าง ๆ มาติดที่บริเวณแผลจนเกิดการอักเสบ และแสบคันบริเวณแผลได้
- ระวังฝุ่นละอองมาติดที่แผล โดยเฉพาะแผลที่มีความลึกระดับ 2 - 3 โดยควรปิดแผลไว้ด้วยผ้าก๊อซ หรือวัสดุปิดแผลอื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
- ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูป หรือเครื่องประดับ ไม่ให้สัมผัสกับบริเวณแผลน้ำร้อนลวกจนกว่าแผลจะหายสนิท เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสี หรือทำให้แผลถลอกอีกได้ และนี่ก็คือการปฐมพยาบาล ดูแลแผลน้ำร้อนลวกอย่างถูกวิธี
และการใช้ยาทาแผลรูปแบบครีมที่มียาฆ่าเชื้อ พร้อมสมานผิว โดยคุณสามารถนำไปใช้ได้หากเกิดเหตุน้ำร้อนลวกขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว รับรองได้ว่าคุณจะสามารถดูแลแผลประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ช่วยให้แผลฟื้นตัวไว และทิ้งรอยแผลเป็นไว้น้อยที่สุดเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
- การปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 จาก https://www.khonkaenram.com/th/services/health-information/health-articles/health/burns
- การปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 จาก https://www.chularat3.com/knowledge_detail.php?lang=en&id=552
- แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก...อันตรายใกล้ตัว. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 จาก https://www.bangkokpattayahospital.com/th/healthcare-services/beauty-plastic-surgery-th/dermatology-articles-th/item/2998-degree-burn-th.html
- บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 จาก https://www.bangkokhospital.com/content/burns