แผลสด-แผลติดเชื้อบวมแดงเล็กน้อย มีวิธีรักษาอย่างไร ?
แผลสด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน การดูแลแผลอย่างถูกวิธีนั้นสำคัญมาก เพราะแม้แต่แผลเล็กน้อยก็อาจลุกลามเป็นแผลติดเชื้อหรือแผลอักเสบได้ การเรียนรู้วิธีดูแลแผลสดที่ถูกต้องจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน
ประเภทของแผลสดที่พบบ่อย
- แผลถลอก
แผลถลอด เกิดจากการเสียดสีกับพื้นผิวหยาบ เช่น แผลจากการล้มบนพื้นถนน มักมีเลือดออกเล็กน้อยและอาจมีเศษสิ่งสกปรกติดอยู่ในแผล ซึ่งแผลประเภทนี้มักหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
- แผลมีดบาด
แผลมีดบาด คือแผลที่เกิดจากของมีคมบาดผิวหนัง เช่น มีด กรรไกร หรือกระจกแตก และอาจมีเลือดออกมากกว่าแผลถลอก ขึ้นอยู่กับความลึกของแผล โดยหากแผลมีดบาดมีความลึกมากอาจต้องเย็บแผล และควรพบแพทย์หากแผลลึกเกิน 1/4 นิ้ว
- แผลน้ำร้อนลวก
แผลน้ำร้อนลวก เกิดจากความร้อนสัมผัสผิวหนัง เช่น น้ำร้อน ไอน้ำ หรือน้ำมันร้อน และอาจมีอาการบวมแดงได้ และในกรณีรุนแรงอาจมีตุ่มน้ำพองร่วมด้วย ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแผล โดยแผลลวกเล็กน้อยสามารถดูแลเองได้
- แผลแมลงกัดต่อย
แผลแมลงกัดต่อย เช่น ยุง ผึ้ง หรือมด มักมีอาการคัน บวม และแดงเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่หายได้เองภายในไม่กี่วัน โดยควรเฝ้าระวังอาการแพ้รุนแรงและควรพบแพทย์หากมีอาการแพ้
วิธีดูแลแผลสดเบื้องต้น
1. ทำความสะอาดแผลทันที
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอุ่นก่อนสัมผัสแผล เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคที่อาจทำให้แผลติดเชื้อและอักเสบได้
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือล้างแผล โดยปล่อยให้น้ำไหลผ่านแผลเบา ๆ เพื่อชะล้างสิ่งสกปรก
- ใช้สบู่อ่อน ๆ ทำความสะอาดรอบ ๆ แผล แต่ระวังอย่าให้สบู่เข้าแผลโดยตรง
- เช็ดแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซ โดยซับเบา ๆ ไม่ถูแรง
2. ห้ามเลือด
- ใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซกดบริเวณแผลเบา ๆ จนเลือดหยุด โดยหากเลือดไหลไม่หยุดภายใน 10-15 นาที ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
3. ทายาฆ่าเชื้อ
- ใช้ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือไฮโดรเจนเพอร็อกไซด์ เช็ดบริเวณแผลและรอบ ๆ แผล โดยระวังอย่าใช้ยาฆ่าเชื้อมากเกินไป เพราะอาจระคายเคืองผิวหนังได้
- สำหรับแผลน้ำร้อนลวก ให้แช่บริเวณที่โดนลวกในน้ำอุณหภูมิปกติประมาณ 10-20 นาทีก่อนทายาฆ่าเชื้อ
4. ปิดแผลเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก
- ใช้พลาสเตอร์หรือผ้าก๊อซปิดแผลเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกและการติดเชื้อ โดยควรเลือกขนาดของพลาสเตอร์หรือผ้าก๊อซให้เหมาะสมกับขนาดของแผล
- สำหรับแผลถลอกหรือแผลน้ำร้อนลวกเล็กน้อย อาจเปิดแผลทิ้งไว้ให้แผลแห้ง โดยไม่ต้องปิดผ้าก๊อซ
5. เปลี่ยนผ้าปิดแผลเป็นประจำ
- ควรเปลี่ยนผ้าปิดแผลทุกวัน หรือเมื่อเกิดความเปียกชื้นบริเวณแผล โดยก่อนเปลี่ยนผ้าปิดแผล ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และคอยสังเกตลักษณะของแผลทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าปิดแผล เพื่อดูว่าแผลมีอาการผิดปกติหรือไม่
หากดูแลแผลสดอย่างไม่ถูกวิธี อาจกลายเป็นแผลอักเสบ-แผลติดเชื้อได้
แม้ว่าแผลสดส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบที่มักมีการลุกลามไปเป็นบริเวณกว้างกว่าแผลจริง โดยแผลที่มีการอักเสบและติดเชื้อจะหายยาก หรือหายช้ากว่าปกติได้
แผลติดเชื้อและอักเสบ
แผลติดเชื้อ (Infected Wound) หรือในบางครั้งเรียกว่า ‘แผลอักเสบ’ หรือ ‘แผลหนอง’ เกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ เข้าสู่แผล และมีการเจริญเติบโต
แผลติดเชื้อและแผลอักเสบมีอาการอย่างไร ?
โดยสามารถสังเกตอาการของแผลสดที่อาจลุกลามไปเป็นแผลติดเชื้อ หรือแผลอักเสบได้ดังต่อไปนี้
- แผลติดเชื้อ แผลอักเสบมักมีอาการเป็นหนองหรือมีของเหลวสีเหลืองไหลออกจากแผล
- แผลมีกลิ่นเหม็นที่เกิดจากแบคทีเรียที่เจริญเติบโตในแผล
- ผิวหนังรอบแผลร้อนกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายพยายามต่อสู้กับการติดเชื้อ
- มีไข้หรือรู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าการติดเชื้อกำลังลุกลาม
- แผลติดเชื้อ บวมแดง สังเกตได้จากผิวหนังรอบแผลบวมและมีสีแดงมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน
- แผลที่ปวดหรือเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอาการปวดที่เพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เป็นสัญญาณของการอักเสบ
- แผลติดเชื้อมักมีอาการแย่ลง ไม่ดีขึ้น และไม่มีแนวโน้มว่าจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์
วิธีรักษาแผลสดที่มีอาการอักเสบบวมแดงเล็กน้อยจากการติดเชื้อ
การรักษาทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของแผล เช่น
การทายา
การทายาฆ่าเชื้อ หรือยาแก้อักเสบในรูปแบบทา หรือยาอื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ เหมาะกับการรักษาแผลอักเสบที่มีขนาดเล็ก และมีการติดเชื้อไม่รุนแรง
การกินยา
กินยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาแก้ปวด จะช่วยลดอาการอักเสบ และกำจัดการติดเชื้อในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องกินยาเหล่านี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
วิธีป้องกันแผลติดเชื้อ
หากเกิดแผลบนผิวหนัง สามารถป้องกันแผลติดเชื้อได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- ล้างบริเวณแผลให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล น้ำเกลือ หรือน้ำสบู่อ่อน ๆ
- ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซปราศจากเชื้อ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย มาสัมผัสกับแผล
- เปลี่ยนผ้าปิดแผลให้สะอาดเป็นประจำ
- งดการสัมผัส และเกาแผล
ภาวะแทรกซ้อนของแผลติดเชื้อ
การติดเชื้อที่แผล หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้
- เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเสี่ยงถึงชีวิตได้
- ผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณที่ติดเชื้อตาย ซึ่งหากลุกลามมาก อาจต้องตัดส่วนนั้น ๆ ออก
- แผลไม่สามารถหายได้ และกลายเป็นแผลเรื้อรัง หากพบอาการเหล่านี้
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีไข้สูงหรืออาการรุนแรง
การเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลแผลสด ป้องกันการลุกลามสู่แผลติดเชื้อ
หากเกิดแผลบนผิวหนัง คุณสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทาแผลที่มีกลไกช่วยฆ่าเชื้อโรค และสมานผิวหนังได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะลดโอกาสการติดเชื้อของแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยาแอนตี้เซปติคที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อและสมานแผลที่ผิวหนังได้
อุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นเกิดได้ทุกเมื่อ ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อของแผลที่อาจเป็นต้นเหตุของภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากเกิดบาดแผลขึ้นเมื่อไร สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยฆ่าเชื้อโรค และสมานผิวหนังเพื่อปฐมพยาบาลได้ จากนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมที่สุด